หน้าเว็บ


วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

อุปกรณ์ที่ใช้ในการย้อมคราม




วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการย้อม
     จากที่เราเคยดูวิธีการย้อมมาแล้วนะครับ ต่อไปเราก็จะมารู้เกี่ยวกับวัสดุธรรมชาติที่ใช้ในการย้อมครามกันนะครับว่าจะน่าทึ่งขนาดไหน

1.  เนื้อคราม  หมายถึง ของแข็งผสมระหว่างปูนกับสีครามในรูปออกซิไดส์ (Indigo blue)  สีน้ำเงินได้จากการตกตะกอนจากการกวนน้ำคราม

2.  น้ำขี้เถ้า  หมายถึง สารละลายจากขี้เถ้า  เตรียมจากภาชนะเจาะรูด้านล่างและรองด้วยใยวัสดุเพื่อกรองขี้เถ้า  บรรจุขี้เถ้าชื้นให้เต็มภาชนะแล้วกดขี้เถ้าให้แน่น  เติมน้ำให้เต็มภาชนะและรองเอาน้ำขี้เถ้าครั้งที่ เติมน้ำอีกเท่าเดิมแล้วกรอง  รวมน้ำขี้เถ้าทั้ง  2  ครั้ง

3.  ปูนขาว  หมายถึง สารเคมีที่ได้จากการเผาหินปูนจนสุกทิ้งให้เย็นโดยทั่วไปใช้กินกับหมากและแช่ผลไม้  เพื่อดองและแช่อิ่ม


อุปกรณ์ที่ใช้ในการย้อม
1.  หม้อดิน   ใช้ในการแช่ครามและการย้อมคราม  เลือกใช้โอ่งดินขนาดจุ 30 ลิตร  เหตุที่เลือกหม้อดิน เนื่องจากน้ำย้อมที่เย็นกว่าจะติดสีได้ดีกว่า ในฤดูร้อนอุณหภูมิสูง การซึมของน้ำจากโอ่งดินจะทำให้น้ำย้อมเย็นกว่าบรรยากาศ หม้อครามจะดี รักษาสีย้อมไว้ได้นาน

2.  เส้นฝ้าย   เป็นฝ้ายที่ได้จากพืชที่เติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด   ตั้งแต่ดินทรายจนถึงดินเหนียวหรือดินที่มีความเป็นกรด-ด่าง ปานกลาง  แต่ฝ้ายต้องการความชื้นในดินสูง โดยเฉพาะช่วงที่ออกดอกเป็นสมอ  ดังนั้นดินที่อุ้มน้ำได้ดีจึงเหมาะสมมากกว่า  นอกจากนี้ฝ้ายยังต้องการแสงแดดจัด  ต้องการอุณหภูมิประมาณ  25 องศาเซลเซียส นานกว่า 150 วัน แหล่งปลูกฝ้ายจึงอยู่ในเขตร้อน ฝ้ายให้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เส้นใยของเมล็ดทำเครื่องนุ่งห่ม น้ำมันจากเมล็ดฝ้ายใช้บริโภคได้ ส่วนกากเมล็ดเป็นแหล่งโปรตีนในอาหารสัตว์ที่มีกระเพาะหมัก เช่น วัว  ควาย

3.  ถังมีฝาปิด   เพื่อแช่คราม  เพราะน้ำหนักเบา สะดวกในการรินแยกของเหลวออกจากตะกอนคราม และแช่ได้น้ำครามปริมาณพอเหมาะกับกำลังการกวนคราม
4. ขัน  เพื่อช่วยในการโจกครามและตักน้ำคราม
5.ส้อมกวนคราม  คือ อุปกรณ์ไม้ไผ่สารด้านหนึ่งของปลายไม้ไผ่จะถูกสานคล้ายกรวยโดยจะใช้สำหรับตีน้ำครามขณะที่เติมปูนขาว ในการทำเนื้อคราม
6. ตะแกรงกรองคราม  คือ ตะแกรงลวดที่ใช้ร่อนแป้ง  หรือตะแกรงที่มีรูขนาดใหญ่กว่าที่กรองแป้ง ใช้สำหรับกรองระหว่างน้ำแช่ครามแยกออกจากกากคราม






วิธีการย้อมคราม


การย้อมคราม
การย้อมคราม  คือ  การนำเส้นใยมาย้อมกับน้ำย้อมครามที่ pH  ที่เหมาะสมซึ่งน้ำย้อมนั้นได้มาจากธรรมชาติ
ขั้นตอนการย้อม
    1.  ทำการโจกครามเพื่อดูลักษณะของน้ำย้อมครามที่เตรียมไว้

 2.  นำเส้นใยที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วมาเตรียมไว้  โดยมีการจับเป็นวง

3.  ทำการย้อมเส้นใยในน้ำครามโดยมีการคลายเส้นใยและหมุนไปรอบๆ
 4.  เมื่อย้อมเสร็จแล้วควรบิดเส้นใยให้หมาด  แล้วนำเส้นใยขึ้นจากหม้อย้อม

ระยะเวลาในการแช่เส้นใยกับน้ำย้อมคราม
         การแช่เส้นใยไว้ในหม้อย้อม  ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที หรือสังเกตสีของน้ำย้อมจะใสขึ้น สีเหลืองจางลง สีเขียวเข็มขึ้น จึงหยุดย้อม
การกระตุกเส้นใยหลังย้อม
       การกระตุกเส้นใยหลังย้อมนั้นเพื่อเป็นการทำให้เส้นใยทุกเส้นที่ผ่านการย้อมแล้ว  ได้สัมผัสกับแก๊สออกซิเจนเพื่อจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำเงินเข้ม
การย้อมครามซ้ำ
       คือ  การนำเส้นใยที่ผ่านการย้อมแล้ว มาย้อมซ้ำเพื่อให้ได้เส้นใยที่มีสีเข้มขึ้นตาม
ต้องการ  โดยการย้อมซ้ำต้องดูน้ำย้อมเพื่อให้อยู่ในภาวะที่พร้อมจะย้อมด้วย  เมื่อผ่านการย้อมจนได้สีที่ต้องการ ห่อด้วยถุงพลาสติกคลุมไว้ นาน  4-5  ชั่วโมง
การล้างเส้นใยหลังย้อม
     การล้างเส้นใย   นำเส้นใยที่ได้จากการย้อมนั้นมาล้างในน้ำให้สะอาด  โดยการซักเส้นใยจนหมดสีครามที่น้ำล้างเส้นใย  เมื่อล้างเส้นใยเสร็จแล้วก็นำไปตากให้เส้นใยแห้ง
การตากเส้นใยหลังย้อม
       การตากในร่ม  การตากเส้นใยครามหลังการย้อมในที่ร่มจะช่วยให้เส้นใยแห้งเสมอกัน  และสีของเส้นใยยังคงจะสดอยู่
       การตากในแดด  การตากเส้นครามหลังย้อมในที่แดดส่องถึง  จะทำให้เส้นใยแห้งเร็วและลักษณะสีของเส้นใยจะเกิดรอยด่างที่เส้นใย


การเก็บเส้นใยหลังย้อม
      เมื่อได้เส้นใยที่พร้อมจะนำไปทอแล้ว  ควรเก็บในที่ร่ม

และก็จบไปอีกหนึ่งขั้นตอนแล้วนะครับ สำหรับวิธีการย้อมคราม ต่อไปจะเป็นวิธีไหนลองติดตามดูนะครับ






ตัวอย่างลายผ้าแบบโบราณ

ลายผ้านั้นมีหลายแบบ แล้วแต่คนทอผ้าอยากจะทำลายไหนขึ้นมา วันนี้เรามีตัวอยากลายผ้ามาให้ดูกัน ซึ้งวิธีการก็คือจะมัดตามลาย แล้วจากนั้นจะนำไปย้อมครามอีกรอบนึง








และนี่คือตัวอย่างลายผ้ามัดหมี่ ที่เรานำมาให้ดูกันครับ

วิธีการมัดหมี่

การมัดหมี่ 
        การมัดหมี่ เป็นการทำลวดลายของผืนผ้า โดยการใช้วัสดุกันน้ำมัดกลุ่มเส้นฝ้ายเป็นลวดลายตามต้องการ ก่อนนำฝ้ายย้อมน้ำสี เมื่อแก้วัสดุกันน้ำออกจึงเกิดสีแตกต่างกัน ถ้าต้องการเพียง 2 สี จะแก้วัสดุมัดฝ้ายเพียงครั้งเดียว หากต้องการหลายสีจะมีการแก้มัดวัสดุหลายครั้ง
         ก่อนมัดหมี่ ต้องค้นหมี่ก่อน โดยการนำเส้นฝ้ายพันรอบหลักหมี่ 1 คู่ นับจำนวนเส้นฝ้ายให้สัมพันธ์กับลายหมี่ที่จะมัด จากนั้นจึงทำการมัดหมี่กลุ่มเส้นฝ้ายในหลักหมี่ ตามลวดลายหมี่ที่ต้องการ เมื่อถอดฝ้ายมัดหมี่ออกจากหลักหมี่ นำไปย้อมสี บิดให้หมาดแล้วจึงแก้ปอมัดหมี่ออก ทำให้เกิดลวดลายตรงที่แก้ปอออก นำฝ้ายที่แก้ปอมัดแล้วนี้ไปพันรอบหลอดไม้ไผ่เรียกว่า การปั่นหลอด ร้อยหลอดฝ้ายตามลำดับก่อน-หลัง เก็บไว้อย่างดีระวังไม่ให้ถูกรบกวนจนเชือกร้อยขาด ฝ้ายมัดหมี่ในหลอดฝ้ายใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอ

การค้นหมี่ 
         เส้นฝ้ายมีไขฉาบโดยธรรมชาติ ก่อนนำมาใช้ต้องชุบน้ำให้เปียกทั่วอณูของเส้นฝ้าย โดยชุบน้ำแล้วทุบด้วยท่อนไม้ผิวเรียบ เรียกว่า การฆ่าฝ้าย ก่อนจะชุบฝ้ายหมาดน้ำในน้ำแป้งและตากให้แห้ง คล้องฝ้ายใส่กงแล้วถ่ายเส้นฝ้ายไปพันรอบอัก ตั้งอักถ่ายเส้นฝ้ายพันรอบหลักหมี่ ซึ่งมีความกว้างสัมพันธ์กับความกว้างของฟืมที่ใช้ทอผ้า นับจำนวนเส้นฝ้ายให้เป็นหมวดหมู่ แต่ละหมู่มีจำนวนเส้นฝ้ายสัมพันธ์กับลายหมี่ มัดหมวดหมู่ฝ้ายด้วยเชือกฟาง





รูปการค้นหมี่



วิธีการค้นหมี่
      1. เอาฝ้ายที่เตรียมมาแล้วมัดหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อยๆ เรียกว่า การก่อหมี่
      2. การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างจนกว่าจะครบจำนวนรอบที่ต้องการ ภาษาท้องถิ่นเรียกแต่ละจำนวนว่าลูกหรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูก ฝ้ายด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง
      3. ควรผูกฝ้ายไว้ทุกลูกด้วยสายแนม เพื่อไม่ให้หมี่พันกัน หรือหลุดออก
จากกัน

รูปการมัดหมี่

วิธีการมัดหมี่
1. มัดกลุ่มฝ้ายแต่ละลูกหมี่ด้วยเชือกฟาง จนครบหลักหมี่ ทำเป็นเชิงผ้า
2. การเริ่มต้นลายมัดหมี่ อาจมัดจากด้านบนไล่เรียงลงข้างล่าง หรือมัดข้างล่างก่อนจึงไล่เรียงขึ้นข้างบน บางคนอาจเริ่มมัดจากตรงกลางก่อน จึงขยายออกไปเต็มหลักหมี่
3. เริ่มมัดปลายเชือกด้านหนึ่งกับลูกหมี่ก่อน จึงพันอีกปลายหนึ่งซ้อนทับกันให้แน่นเพื่อไม่ให้สีย้อมซึมเข้าข้อหมี่ เมื่อพันทับกันไปจนได้ความยาวตามลายหมี่แล้ว มัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่นเช่นกัน โดยเหลือปลายเชือกไว้ เมื่อเวลาแก้ปอมัดจะทำได้ง่าย


4. เอาเชือกเส้นหนึ่งสอดเข้าไปในช่องหลักหมี่ข้างใดข้างหนึ่ง ผูกกลุ่มฝ้ายไว้เป็นวงไม่ให้หมี่ที่มัดลวดลายแล้วหลุดออกจากกัน และใช้เป็นหูหิ้วสำหรับจับเวลาย้อม ถอดฝ้ายมัดหมี่ออกจากหลักหมี่

หลังจากนั้น เราก็จะนำไป ย้อมคราม เมื่อย้อมครามเสร็จก็จะนำมาแก้ปอมัดหมี่



การแก้ปอมัดหมี่
หมี่ที่มัดเสร็จเรียบร้อยและถอดออกจากหลักหมี่แล้วนำไปแช่น้ำให้เปียก บิดให้หมาด นำไปย้อมสีคราม ล้างสีให้สะอาด จึงนำมาแก้ปอมัดหมี่ พาดราวกระตุกให้เรียงเส้น ผึ่งให้แห้งได้ฝ้ายมัดหมี่


การปั่นหลอด
นำฝ้ายมัดหมี่คล้องใส่กงซึ่งวางอยู่ระหว่างตีนกง 1 คู่ หมุนกงคลายฝ้ายออกจากกงพันเข้าหลอดไม้ไผ่เล็กๆ ที่เสียบแน่นอยู่กับเหล็กไนของหลา ความยาวของหลอดไผ่สัมพันธ์กันกับกระสวยทอผ้า เมื่อหมุนกงล้อไม้ไผ่ของหลา เหล็กไนและหลอดจะหมุนเอาเส้นฝ้ายจากกงพันรอบแกนหลอดไม้ไผ่ ให้ได้จำนวนเส้นฝ้ายพอเหมาะกับขนาดองร่องกระสวยทอผ้า
การร้อยฝ้าย
ร้อยหลอกฝ้ายที่ปั่นแล้วตามลำดับก่อนหลังหากร้อยหลอดผิดลำดับหรือเชือกร้อยหลอดขาดทำให้ลำดับฝ้ายผิดไปจะไม่สามารถทอเป็นลวดลายตามความต้องการได้


อุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า








ในการทอผ้ามัดหมี่ก็จะมีอุปกรณ์ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดแสดงถึงความละเอียดอ่อนในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นงานศิลปะ ซึ่งจะเป็นผ้ามัดหมี่ที่สวยงามต่อไป

1. หูก เป็นเครื่องมือสำหรับทอผ้า มีหลายขนาดและชนิด แต่มีหลักการพื้นฐานอย่างเดียวกัน คือ การขัดประสานระหว่างด้ายเส้นพุ่ง และด้ายเส้นยืน จนแน่นเป็นเนื้อผ้า




2. ฟืม หรือฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้าทำด้วยโลหะ มีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ  แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืน เข้าไป เป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้า เป็นส่วนที่ใช้กระทบให้เส้นด้ายที่ทอเรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้า


3.กง   ใช้สำหรับใส่ไจหมี่
4.อัก ใช้สำหรับกวักหมี่ออกจากกง
5.หลักตีนกง (ไม้ที่ใช้ยึดทั้งสองข้างในการกวักด้าย)


6. หลา เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับปั่นหลอด จากอักมาสู่โบกเพื่อทำเป็นทางต่ำ (เส้นพุ่ง) เข็นหรือปั่นหมี่ 2 เส้นรวมกัน เรียกว่า เข็นรังกัน เข็นควบกันหรือเข็นคุรกัน ถ้าเป็นหมี่คนละสี เข็นรวมกันแล้ว เรียกว่า มับไม ใช้แกว่งหมี่ ขั้นตอนนี้เป็นการเก็บปุ่มที่เรียกว่า ขี้หมี่ออกจากเส้นหมี่ และยังทำให้เส้นหมี่บิดตัวแน่นขึ้น ใช้ทำเป็นทางเครือ


7.กระสวย    ใช้บรรจุหลอดหมี่พุ่งสอดไประหว่างช่องว่างของเส้นหมี่ยืน ต้น และปลายเรียวตรงกลางเจาะเป็นช่องสำหรับใส่หลอดด้าย

8. หลอดใส่ด้าย หลอดด้ายค้น (ลูกค้น) เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการค้นเส้นด้าย โดยเส้นด้ายทุกเส้นจะถูกม้วนหรือพันเก็บไว้ในหลอดค้น ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 8 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 นิ้ว หลอดค้นทำจากไม้ไผ่



9.หลักเฝีย ใช้ในการค้นฝ้าย



10. โฮงมี่ ใช้สำหรับมัดหมี่ 










ประวัติความเป็นมา


การทำผ้ามัดหมี่เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่งนิยมทำกันมาช้านานในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและบางจังหวัดในภาคกลาง ชาวบ้านจะใช้เวลาว่างจากการทำนาและการเก็บเกี่ยวมาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน หรือทอผ้าเอาไว้ใช้ในงานประเพณีต่างๆ ลวดลายส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว การทำผ้ามัดหมี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นส่วนใหญ่นิยมทำด้วยไหม
ศิลปะการทำผ้ามัดหมี่นั้นทำได้โดยการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีและลวดลายก่อนแล้วจึงนำไปเรียงทอบนกี่ออกมาเป็นผืนผ้าวัฒนธรรมการทำผ้ามัดหมี่ของไทยนั้นนิยมทำกันที่ไหมเส้นพุ่งเท่านั้น
ลักษณะเฉพาะของผ้ามัดหมี่ อยู่ที่รอยซึมของสีที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด ถึงแม้จะใช้ความแม่นยำในการทอมากเพียงไร ก็จะเกิดลักษณะความเหลื่อมล้ำของสีบนเส้นไหมให้เห็นต่างไปจากผ้าทอมือชนิดอื่นๆ นับเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไทยมัดหมี่โดยแท้
ผ้ามัดหมี่แต่ละชิ้นนั้นมักไม่มีการซ้ำกัน ถึงแม้ว่าจะมีสีสันลวดลายเดิมวางไว้เป็นตัวอย่างก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าทุกขั้นตอนของการประดิษฐ์ ล้วนเกิดจากน้ำมือและน้ำพักน้ำแรงของคนทั้งสิ้น ความมีเสน่ห์ของผ้าไหมมัดหมี่ในแต่ละชิ้นก็คือ ความเป็นชิ้นเดียวในโลกนั้นเอง จึงนับว่าเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่ายิ่ง

สมาชิก

สมาชิกในกลุ่ม

     นายอรรถพล ทะคง                                    513230707-3
     นายจีระศักดิ์ เสริมศรี                                 513230896-4
     นางสาวจารุวรรณ เหล่านายอ                   513230335-4
     นางสาวพรทิพย์ ธรรมโรเวศน์                   513230905-9
     นางสาวสุภาภรณ์ คล่องแคล่ว                  513230342-7

เรื่อง 

     ผ้าพื้นเมืองภาคอีสาน

เหตุผลที่ทำ

     ภาคอีสานมีวัฒนธรรมพื้นเมืองหลายอย่าง สิ่งที่เราเลือกศึกษานั้นเป็นเรื่องราวของผ้าพื้นเมืองภาคอีสาน
ซึ่งมีประวัติยาวนาน ในการย้อมทำลายผ้าเป็นองค์ความรู้ซึ่งอยู่ในตัวบุคคลซึ่งสืบทอดกันมาอย่างยาวนานและค่อยๆเลือนลางเนื่องจากไม่มีผู้สืบทอด เราจึงต้องการหาข้อมูลผ้าพื้นเมืองภาคอีสานเพื่อที่จะนำความรู้นั้นมาเผยแพร่เพื่อสืบสานความรู้พื้นบ้านไม่ให้หายไปกับคนรุ่นก่อนและเพื่อให้คนสมัยใหม่ได้ศึกษาและนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ต่อไป